จาก -ธนาคารกรุงเทพ-
พักหลัง ๆ นี้เพื่อน ๆ หลายคนคงได้ยินตามโทรทัศน์ งานสัมมนา หรืออ่านผ่านตาบนเฟซบุ๊กของนักวิชาการหลายท่านเกี่ยวกับเรื่องของ Thailand 4.0 พบเห็นจนจำได้ขึ้นใจในประโยคที่ว่า “ประเทศไทยต้องก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ให้ได้”
ซึ่งมันคืออะไรก็ไม่รู้แหละ รู้แค่คร่าว ๆ ว่ามันเกี่ยวกับเทคโนโลยี เกี่ยวกับประเทศไทยทั้งประเทศ แต่เป็นยังไงมายังไง แล้วทำไมอยู่ ๆ ถึงมี 4.0 เลย มันมี 1.0 2.0 มาก่อนมั้ย แล้ว 4.0 มันคืออะไร ดียังไง เดี๋ยววันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจพร้อม ๆ กัน รับรองได้ว่า ง่าย สั้น กระชับ อ่านจบไปเล่าต่อได้ทันทีครับ
เริ่มต้นกันใหม่ ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
ก่อนอื่นเลยต้องอธิบายก่อนว่า Thailand 1.0 – 4.0 ต่าง ๆ มันคืออะไร ซึ่งมันก็คือโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย แต่แตกต่างกันที่กลุ่มการลงทุนหลักของประเทศในขณะนั้น พูดง่าย ๆ คือ ในแต่ละยุคสมัยรัฐก็จะให้ความสนใจและส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ลองกลับไปย้อนอดีตกันสักหน่อยดีกว่า
เริ่มต้นกันที่ Thailand 1.0 ซึ่งช่วงนั้นรัฐก็จะเน้นการลงทุนทางภาคเกษตรกรรม เช่น หมู หมา กา ไก่ พืชไร่ พืชสวน ส่วนการส่งออกสมัยนั้นยังเป็นแค่พวกไม้สัก ดีบุกเท่านั้นเอง
โมเดลต่อมาก็เป็น Thailand 2.0 ที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเบาแต่หันมาใช้แรงงานจำนวนมากแทน เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ อะไรพวกนี้
และในช่วงที่เราอยู่กันขณะนี้ก็คือ Thailand 3.0 ซึ่งเป็นยุคของอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เน้นเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้าที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และเรื่องของการลงทุน มีการขยับไปลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย
แล้วตอนนี้ไม่ดียังไง ทำไมต้องปรับตัว
เพราะ Thailand 3.0 ที่เราเป็นกันมาตลอดจนถึงทุกวันนี้มันทำให้รายได้ประเทศอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น เราไม่สามารถขยับหนีไปจากจุดนี้ได้สักที เมื่อ 50 ปีก่อน ช่วง พ.ศ.2500-2536 เศรษฐกิจของไทยเรามีการเติบโตอย่างมากถึงระดับ 7-8% ต่อปี แต่หลังจาก พ.ศ.2537 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นเพียง 3-4% ต่อปีเท่านั้น นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ ‘ความเหลื่อมล้ำด้านความร่ำรวย’ อีกต่างหาก และสุดท้ายก็เรื่องของ ‘ความไม่สมดุลในการพัฒนา’ ซึ่งเรื่องพวกนี้นี่แหละครับที่ทำให้รัฐบาลต้องหันมาใส่ใจ เร่งพัฒนาปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจกันยกใหญ่ เพื่อให้เราก้าวข้ามจาก Thailand 3.0 ไปสู่ Thailand 4.0 ให้ได้ใน 3-5 ปีนี้
ถึงคราวเปิดใจให้ Thailand 4.0
ทุกคนที่รับรู้ถึงวิกฤตในครั้งนี้ก็ได้แต่ฝากความหวังไว้ที่ Thailand 4.0 หวังว่ามันจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักทั้งหลายที่เคยเจอมาตลอดได้ ซึ่ง Thailand 4.0 นี้เป็นการ ‘ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม’ นั่นเอง เปลี่ยนจากที่แต่ก่อนเราลงมือทำมาก แต่ได้ผลตอบแทนน้อย มาเป็น ลงมือทำน้อย ๆ แต่ได้ผลตอบแทนมหาศาล โดยการเอาความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดัน และนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่การบริการมากขึ้น
ตัว Thailand 4.0 นี้จะเป็นการพูดถึง New S-Curve หรือก็คือ การพัฒนาเปลี่ยนแปลงใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งก็คล้าย ๆ กับการ Disruptive ที่เข้ามาพัฒนาสินค้าที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และล้มล้างพฤติกรรมแบบเดิม ๆ เหมือนอย่างเช่น ฟิล์ม Kodak ที่เคยรุ่งเรืองอยู่ในสมัยก่อน ใครจะไปคิดว่าสุดท้ายแล้วบริษัทยักษ์ใหญ่รายนี้จะถูกคลื่นลูกใหม่อย่างเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแทนที่ ต้องล้มหายไปจากความทรงจำของเด็กรุ่นใหม่ ทำให้ยุคสมัยนี้คนอาจจะไม่รู้จักกับ Kodak แต่รู้จักกับกล้องดิจิทัลแบรนด์ดัง ๆ อย่างอื่นแทน
ส่วนที่ยากของ New S-Curve คือเราจะเคลื่อนย้ายไปเทคโนโลยีใหม่เมื่อไหร่ อย่างแรกต้องดูว่าเราจะไปปักหลักกับเทคโนโลยีไหนดี ต่อมาคือเราจะเปลี่ยนแปลงมันไปยังไง และสุดท้าย เมื่อไหร่ถึงควรจะปรับตัวไปยังเทคโนโลยีนั้น
การเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาพร้อม Thailand 4.0
วิธีการถือเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งสำหรับ Thailand 4.0 แล้ว การเปลี่ยนแปลงย่อมมีให้เห็น และแน่นอนว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมด้วย ซึ่งเมื่อมองภาพว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมอยู่เยอะ การเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้จึงเกิดขึ้น โดยเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบธรรมดา ให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงให้เกิดความสมดุลในการผลิต ให้ความต้องการซื้อและขายมันพอดีกัน ต้องช่วยกันคิดว่าสิ่งที่เราเหลือสามารถนำไปแปรรูปเปลี่ยนเป็นอะไรที่มีคนต้องการได้บ้าง
อีกทั้งตัวผู้ประกอบการเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเช่นกัน จาก SME ที่ต้องรอคอยการช่วยเหลือจากรัฐอยู่ตลอดเวลา เป็น Smart Enterprises และ Startup หรือบริษัทเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง อย่างที่ได้ยินข่าวกันอยู่ในทุกวันนี้ โดยการนำเอานวัตกรรมเข้ามาช่วย เพิ่มจุดแข็งและคุณค่าให้ธุรกิจ
รวมไปถึงสมัยก่อนเราอาจจะขาดแคลนคุณภาพของแรงงาน มีแต่แรงงานทักษะต่ำ ไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอ ก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน สร้างพื้นฐานความรู้ ความเชี่ยวชาญ ให้แก่แรงงานของเรา
และการเปลี่ยนแปลงสุดท้ายคือ การบริการ อาจต้องเปลี่ยนแปลง จากที่เคยแค่บอกต่อกันไปปากต่อปาก มีคนกดไลก์เยอะ ก็คิดว่าบริการนั้นดีมากแล้ว อาจต้องมีการนำเรื่องของมาตรฐานเข้ามา เพื่อให้กลายเป็น High Value Services ต้องมีการรับรอง มีการตรวจสอบเพื่อให้มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ เช่น บริการนวด ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพบริการที่มีมากในประเทศไทย อาจต้องมีการตรวจสอบและผ่านการรับรองเพื่อแลกกับคุณภาพที่ได้มาตรฐาน
จะเข้าสู่ยุค 4.0 ทั้งที SME ต้องเตรียมตัวไว้ให้พร้อม
ในขณะที่รัฐบาลกำลังพยายามกันอย่างมากที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เป็นไปตามกลไกที่เหมาะสมเข้ากับยุคสมัย หน้าที่ของพวกเราทุกคนในฐานะ SME ผู้ประกอบการ หรือประชาชนคนไทย ก็สามารถเตรียมตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ โดยอันดับแรกเลยคือเรื่องของเทคโนโลยีที่ควรใช้ให้เป็น เพราะในโลกปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมันยังช่วยให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ต้องหมั่นดูอยู่เสมอว่ามีอะไรที่ตรงกับเราบ้าง เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปได้ไวยิ่งขึ้น เรื่องของการไปเยี่ยมชมงานที่ต่างประเทศก็เช่นกัน เพราะลูกค้าในอนาคตอาจมาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก การติดต่อ มารยาท ธรรมเนียมการปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าบริษัทไม่มีคนพูดภาษาอังกฤษได้ ส่งอีเมลมาก็ไม่สามารถตอบกลับได้ ก็ทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจไปได้อย่างน่าเสียดาย และสุดท้ายเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะคนในสมัยนี้ใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากมีสินค้าที่คุณสมบัติเหมือนกัน ราคาใกล้เคียงกัน สินค้าที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะสามารถจับใจลูกค้าได้มากกว่า
บทสรุปสุดท้าย อยู่ที่ความร่วมมือกันของคนในชาติไทย
Thailand 4.0 นับเป็นโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคนี้ที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมไปด้วยกัน ช่วยกันผลักดันไปพร้อม ๆ กัน สิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้โมเดลนี้ประสบความสำเร็จก็คือ ต้องคิดให้มาก คิดให้จบ อ่านให้ขาด ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง อย่ามัวแต่โทษกันเมื่อมีอะไรผิดพลาด เพราะทุกอย่างเปรียบเสมือนการเรียนรู้ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงก็เหมือนกับเราย่ำอยู่กับที่ ซึ่งด้วยกับโมเดล Thailand 4.0 นี้บวกกับพลังของคนในชาติ การเปลี่ยนแปลงจาก ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ ไปสู่ ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ คงไม่ใช่แค่เรื่องในความฝันอีกต่อไป
ที่มา: http://www.bangkokbanksme.com/article/10053