อาการก่อนคลอด: สัญญาณเตือนแบบนี้อีกไม่กี่วันจะได้เจอลูกน้อยแล้วนะ
อาการก่อนคลอดมักจะปรากฎขึ้นก่อนจะมีการคลอดจริงเกิดขึ้นราว ๆ สัปดาห์ หรือหลายสัปดาห์ แต่มักจะเกิดขึ้นในเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยสามารถพบอาการคลอดได้ ดังนี้
- ท้องลด เพราะทารกจะเริ่มเคลื่อนตัวลงสู่อุ้งเชิงกรานพร้อมที่จะคลอด ทำให้ความสูงของยอดมดลูกลดลง
- ปวดหน่วงช่องคลอด เพราะศีรษะของลูกเคลื่อนต่ำลงสู่อุ้งเชิงกราน
- มูกที่อุดปากมดลูกหลุด เนื่องจากมดลูกใกล้เปิด มูกเหนียวข้นที่ปิดปากมดลูกไว้จึงไหลออกมา โดยมักจะไหลออกมาช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนจะคลอด
- เจ็บท้องเตือน หรือเรียกว่า เจ็บท้องหลอก มีอาการเจ็บท้องเนื่องจากมดลูกบีบตัว เพราะทารกเคลื่อนตัวเข้าใกล้ปากมดลูกมากขึ้น โดยอาการปวดท้องสามารถหายเองได้ แต่ปากมดลูกจะยังไม่เปิด และยังไม่มีน้ำคร่ำไหล
- มีสัญชาตญาณการทำรัง (Nesting Instinct) เริ่มมีสัญชาตญาณของการเป็นแม่ คือจะเริ่มรู้สึกอยากเก็บบ้าน จัดห้อง เพื่อเตรียมต้อนรับลูกน้อย
หลังจากมีอาการก่อนคลอดปรากฎมาให้เห็นบ้างเป็นระยะ ๆ ก่อนหน้านั้น ตอนนี้ก็เริ่มเข้าใกล้กำหนดคลอดเข้าไปทุกที แต่อาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 37-42 เพราะทารกอาจจะคลอดเมื่อไหร่ก็ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยคุณแม่สามารถสังเกตอาการใกล้คลอดได้ ดังนี้
- มีมูกเลือดก่อนคลอด ก่อนจะคลอดปากมดลูกจะเริ่มขยายกว้างขึ้น หรือปากมดลูกเริ่มเปิด ทำให้เส้นเลือดบริเวณมดลูกแตกออก มูกเลือดที่คอยป้องกันสิ่งแปลกปลอมจึงไหลออกมา
- ท้องแข็ง บางกรณีคุณแม่อาจมีอาการท้องแข็งใกล้คลอด เนื่องจากมดลูกมีการบีบตัว
- ทารกดิ้นน้อยลง แม่บางคนอาจรู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง เพราะทารกมีขนาดตัวมากขึ้น แต่มดลูกนั้นคับแคบเกินไปสำหรับทารก จึงอาจจะดิ้นไม่ถนัด แต่ก็ยังดิ้นอยู่แม้จะดิ้นน้อยลงไปบ้างก็ตาม
- รู้สึกปวดท้องอยากเข้าห้องน้ำ หรือมีอาการท้องเสียใกล้คลอด ช่วงใกล้คลอดฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการคลอด ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก และกล้ามเนื้อที่ลำไส้ตรงอ่อนตัวลง ทำให้รู้สึกปวดท้องหรืออยากขับถ่ายได้ง่าย ทั้งมีการขับถ่ายจริงหรือเป็นแค่เพียงอาการปวดให้สับสนเท่านั้น
- น้ำเดิน น้ำคร่ำเดิน เมื่อใกล้ถึงเวลาคลอด มดลูกจะบีบตัวเล็กลงเพื่อให้ศีรษะของทารกเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกรานได้ง่ายขึ้น ถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกเมื่อถูกบีบเข้าก็จะค่อย ๆ แตกออกทำให้มีน้ำไหลออกมาทางช่องคลอด ที่เรียกกันว่า น้ำเดิน หรือน้ำคร่ำแตก นั่นเอง
- ปวดท้องคลอด หรือ เจ็บท้องจริง มีอาการเจ็บท้องเนื่องจากมดลูกบีบตัว เพราะทารกเคลื่อนตัวเข้าใกล้ปากมดลูกมากขึ้น โดยอาการปวดท้องจะไม่หายไป ปากมดลูกเริ่มเปิด และมีน้ำคร่ำไหล
- ปวดหลัง เนื่องจากข้อต่อและเส้นเอ็นเริ่มมีการคลายตัวตามธรรมชาติเพื่อเตรียมพร้อมต่อการคลอด หรือทารกเคลื่อนตัวไปชนกับกระดูกสันหลัง จึงทำให้รู้สึกปวดหรือเมื่อยหลังมากขึ้นในช่วงที่ใกล้จะคลอด
- ปากมดลูกเปิด เมื่อใกล้คลอด ปากมดลูกจะเริ่มขยายออกมากขึ้น เพื่อให้ทารกสามารถออกมาได้ โดยปากมดลูกจะเริ่มเปิดมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ใกล้กำหนดคลอด หนึ่งวันหรือไม่กี่วันก่อนจะคลอด
เป็นไปได้ไหมที่คุณแม่บางคนอาจจะแทบไม่มีอาการเตือนใกล้คลอดเลย
มีหลายกรณีที่คุณแม่ใกล้กำหนดคลอดแล้ว แต่แทบไม่มีอาการเตือนใกล้คลอดให้เห็นเลย อย่างไรก็ตาม อาการหลัก ๆ อย่าง ปากมดลูกเปิด กับน้ำคร่ำเดิน ยังคงเป็นอาการปกติก่อนคลอดที่พบเห็นได้แม้จะไม่มีอาการเตือนอื่น ๆ ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก หากเข้าใกล้กำหนดคลอดแล้วแต่ยังไม่มีอาการเตือนใด ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
อาการแบบไหนที่คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาล
หากมีอาการเตือนใกล้คลอดเกิดขึ้น คุณแม่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที เพราะทารกอาจจะพร้อมคลอดออกมาได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นร่วมด้วยในช่วงใกล้คลอด ควรไปพบแพทย์ทันที
- มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด
- รู้สึกว่าลูกหยุดดิ้น หรือลูกดิ้นน้อยลงจนแทบไม่รู้สึก
- น้ำคร่ำมีสีต่างไปจากเดิม เช่น มีสีน้ำตาล สีเขียว หรือสีแดง
- อาเจียนไม่หยุด
- หมดสติ
- มีไข้สูงและหนาวสั่น